สำนวนปรากฏทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาในแวดวงสื่อมวลชน การใช้ภาษาในแวดวงโฆษณา รวมถึงการใช้ภาษาในแวดวงเพลง ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากล
สารนิพนธ์ของ ศิวิไล ชูวิจิตร เรื่อง การวิเคราะห์การใช้ภาษาในเพลงไทยสากลของบริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992 จำกัด ช่วงปี พ.ศ. 2542-2546 ศึกษาจากเพลง 127 เพลง พบการใช้สำนวน 4 ประเภท
1 การใช้สำนวนเดิม เช่น น้ำตาตกใน (เพลงโธ่เอ๊ย บาซู) เต้นแร้งเต้นกา (เพลงโต้รุ่ง อาร์ม ศิริโรจน์ ศิริเจริญ) เลือดเย็น (เพลงทำไมไม่ทำให้ตาย ไฮร็อค)
2 การใช้สำนวนใหม่โดยเปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม เช่น งมเข็มในทะเล (เพลงงมเข็มในทะเล โดม ปกรณ์ ลัม) ดัดแปลงจากงมเข็มในมหาสมุทร สะพานไม่ทอดข้ามไป (เพลงตบมือข้างเดียว ปาน ธนพร) ดัดแปลงจาก ทอดสะพาน
3 การใช้สำนวนที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น ย้อนศร (เพลงตะลึง อนัน อันวา) ซื้อเวลา (เพลงเผ่าไหนหรอ เอิร์น จิรวรรณ)
4 การใช้สำนวนจากภาษาต่างประเทศ เช่น มันเป็นอะไรที่ (เพลงรักแท้เพื่อนแท้ ดัง พันกร บุณยะจินดา) มาจากภาษาต่างประเทศ it’s something like that …
ภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จะเห็นว่าการใช้สำนวนในเพลงไทยสากลนั้น มีทั้งใช้สำนวนเดิม และมีการเปลี่ยนแปลงการใช้สำนวนในรูปแบบต่าง ๆ ดัดแปลงสำนวนเดิม สร้างสำนวนขึ้นให้ใหม่ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม ตลอดจนสำนวนที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ